ทุ่ม-ทับ-จับ-หัก ในมวยคาดเชือก ของ มวยไชยา

ทุ่ม ทับ จับ หัก ในมวยคาดเชือกนั้นเป็นกลมวยชั้นสูง ที่ผู้ฝึกจะต้องเรียนรู้พื้นฐาน การบริหารร่างกายเพื่อพาหุยุทธ์พร้อมฝึกฝนท่าย่างสามขุมตามแบบของแต่ละครู เรียก'ท่าครู'รวมทั้งแม่ไม้ต่าง ๆ เช่นการออกอาวุธ ป้องปัดปิดเปิด ป้องกัน ตอบโต้ให้เชี่ยวชาญดีแล้ว จึงจะสามารถแตกแม่ไม้กล ลูกไม้ กลรับ กลรุก ล่อหลอก หลบหลีก ทั้งยังต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้ใช้ออกไป จึงจะเกิดความคมเด็ดขาด รุนแรง ท่วงท่าลีลางดงาม เข้มแข็งดังใจ

เช่นท่าครูมวยไชยา(ท่าย่างสามขุมคลุมแดนยักษ์)นั้นได้ชื่อว่ามีความรัดกุมเฉียบคม จนสามารถชนะการแข่งหน้าพระที่นั่งสมัย ร.5 เมื่อคราวจัดให้มีงาน ณ ทุ่งพระเมรุ ป้อมเผด็จดัสกร กรุงเทพฯ คือ นายปล่อง จำนงทอง ที่สามารถใช้ 'ท่าเสือลากหาง' โจนเข้าจับ ทุ่มทับจับหักปรปักษ์จนมีชัย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น 'หมื่นมวยมีชื่อ' ท่าที่ใช้จับทุ่มรับการจู่โจมด้วย เตะ ถีบ เข่า อย่าง 'ถอนยวง' นั้น สามารถทุ่มโยนปรปักษ์ออกไป หรีบจับกดหัวให้ปักพื้นแล้วทับด้วยก้นหรือเข่าได้ หากเป็นการรุกด้วยหมัดนั้นให้แก้ด้วย 'ขุนยักษ์พานาง' หรือ 'ขุนยักษ์จับลิง' ศอกแก้ด้วย 'พระรามหักศร' และยังมีท่าอื่น ๆ อีกมาก ที่ครูบาอาจารย์แต่โบราณท่านมิได้กำหนดชื่อเอาไว้ ทั้งหมดนี้ผู้ใช้จำต้องรู้เคล็ดป้องปัดปิดเปิด และกลประกบประกับจับรั้ง เป็นท่าร่วมเพื่อเข้าจับหักด้วยมือ หรือเกี้ยวกวัดด้วยท่อนแขน ฯลฯ